Homeเกษตรไทย , เตาอบ , ยางแผ่น , ยางพารา � การนำยางแผ่นฯ พัฒนาเตาอบ ประหยัดพลังงาน

Advertisements / พื้นที่โฆษณา
รักอาชีพ : ทุกวันนี้ประเทศไทยของเรานั้น เป็นผู้ผลิต และส่งออกยางพารารายใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบแปรรูปขั้นต้นโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ ยางแผ่นรมควันมีสัดส่วนสูงถึง 85% ของผลิตภัณฑ์ยางที่ส่งออกทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าถึง 7,896 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การนำยางแผ่นฯ พัฒนาเตาอบ ประหยัดพลังงาน


แต่ในกระบวนการผลิตยางแผ่นรมควัน กำลังประสบปัญหาด้านต้นทุนการผลิตและคุณภาพของยางแผ่นรมควันที่ได้ คือ "เตาอบยางแผ่นรมควัน" ที่ใช้กันอยู่นั้นมีอายุเกือบ 20 ปี (ตั้งแต่ปี 2536-2537) เป็นเตาอิฐ ทำให้การใช้งานเริ่มหมดสภาพ และใช้ไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง โดยเฉพาะไม้ยางพาราที่ขณะนี้มีราคาสูงขึ้นและผันผวนตามความต้องการของตลาด ทำให้ต้นทุนการผลิตยางแผ่นรมควันของกลุ่มสหกรณ์กองทุนสวนยาง หรือ สกย. สูงขึ้นตามไปด้วย

นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบัน ไทยสามารถผลิตยางได้ปีละกว่า 3 ล้านตัน มีพื้นที่ปลูกยางพาราทั่วประเทศถึงกว่า 16.9 ล้านไร่ โดยเฉพาะในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี พัทลุง และนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่มีศักยภาพในการปลูกยางพารามากที่สุดในประเทศถึง 4.3 ล้านไร่ คิดเป็น 1ใน 4 ของประเทศ ประกอบกับราคาน้ำยางพาราที่สูงขึ้น และความต้องการยางแผ่นรมควันในต่างประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เตาอบยางแผ่นรมควันที่ส่วนใหญ่ใช้กันอยู่เริ่มหมดสภาพและราคาไม้ฟืนที่ แพงขึ้น อาจส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและคุณภาพของยางที่ได้

ปีงบประมาณ 2553–2555 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณ 11.3 ล้านบาท โดยสำนักงานอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการเพิ่มศักยภาพการแปรรูปน้ำยางพาราแบบลดต้นทุนและ รักษาสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการขยายผล  "การสร้างเตาอบยางแผ่นรมควันแบบประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม" จำนวนทั้งสิ้น 32 เตา ภายในระยะเวลา 3 ปี

สำหรับต้นทุนการพัฒนาเตาอบยางแผ่นรมควันแบบประหยัดพลังงานฯ นี้ มีมูลค่าเตาละ 500,000 บาท สกย.ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานอุตสาหกรรม กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยในการดำเนินการจัดทำเตาละ 300,000 บาท อีก 200,000 บาท โครงการ iTAP ให้การสนับสนุน 70% เป็นค่าที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญ ส่วนที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายที่ สกย.จะเป็นผู้ออกเพิ่มเติม

รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า โครงการนี้ เป็นการนำร่องในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย เพื่อกระตุ้นให้ สกย.หันมาพัฒนาเทคโนโลยีเตาอบยางแผ่นรมควันแบบประหยัดพลังงาน และรักษาสิ่งแวดล้อมใช้แทนเตาแบบเดิม 

เพราะผลสำเร็จในการสร้างและทดลองใช้เตาต้นแบบที่ สกย.บ้านหนองแดงสามัคคี เมื่อกลางปี 2552 สามารถประหยัดพลังงานและเวลาได้จริง โดยลดการใช้ไม้ฟืนลงได้มากกว่า 40%, ลดระยะเวลาในการอบยางสั้นลงจาก 4 วันเหลือ 3 วัน ,ปริมาณยางเสียลดลง และมีการนำความร้อนกลับมาใช้ใหม่ โดยเฉพาะควันที่เกิดจากการเผาไหม้ ยังสามารถดึงกลับเข้าไปใช้รมควันยางได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ลดปริมาณควันออกสู่ชั้นบรรยากาศ ที่สำคัญยังทำให้ต้นทุนโดยรวมในการรมยางลดลงมากกว่า 30%

สำหรับ สกย.หรือกลุ่มเกษตรกร ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ที่สนใจต้องการพัฒนาเตาอบยางแผ่นรมควันแบบประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวด ล้อมแบบใหม่นี้

หากท่านใดสนใจสามารถติดต่อขอสมัครเข้าร่วมโครงการฯ หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
ฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุง
โทร. 07 -461 -2416 ต่อ 24
โทรสาร. 07- 461 -1772
โครงการ iTAP โทร. 02- 564 -7000 ต่อ 1382, 1389 (ในวันและเวลาราชการ)
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : เดลินิวส์

0 comments

Leave a Reply | คอมเม้นท์