Advertisements / พื้นที่โฆษณา
รักอาชีพ : "รากแก้ว" วารสารเสริมสร้างสุขภาวะสู่ความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ฉบับเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 นำเสนอเรื่อง ซีอีโอบ้านทุ่ง : ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ เกษตรกรแห่ง "ธรรมเกษตร" ไว้อย่างน่าศึกษามากทีเดียว โดยสรุปใจความสำคัญได้ดังนี้
ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ มีตำแหน่งผู้จัดการแผนงานประเทศไทยของศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2546 จอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ส่งฝูงบินไปถล่มอิรัก เขาบอกกับตัวเองว่า "นั่นไม่ใช่โลกที่น่าอยู่สำหรับเรา"
ด้วยเหตุผลนี้ ทำให้ ดร.เพิ่มศักดิ์ ลาออกจากตำแหน่ง กลับไปบ้านเกิดที่ปราจีนบุรี พลิกฟื้นผินดินที่แห้งระแหง 20 ไร่ เพื่อสร้างโลกใหม่ของตัวเอง นั่นก็คือ "การเกษตรที่เกื้อกูลธรรมชาติ"
ดร.เพิ่มศักดิ์ สำเร็จปริญญาตรีและปริญญาโทสาขาวนศาสตร์ ด้านการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรทั้งดินและน้ำ ปริญญาเอกสาขาการเกษตร ด้านวนศาสตร์ชุมชน มหาวิทยาลัยสึคุบะ ประเทศญี่ปุ่น
ดร.เพิ่มศักดิ์เคยได้รับคำถามว่า เรียนถึงปริญญาเอกแล้วมาทำนา ถ้ารู้ว่ามาทำนา แล้วไปเรียนทำไมหรือ สิ้นคิดแล้วหรือ ไม่มีอะไรทำแล้วหรือ จึงมาทำนา
คำตอบคือ "ไม่ได้ทำให้หัวใจผมฝ่อ มันทำให้ใจผมฟู ทัศนคติเหล่านั้นสะท้อนให้เห็นว่าใครที่เป็นผู้รู้ ใครที่เป็นนักปราชญ์ สุดท้าย เมื่อตั้งใจทำนา ผมต้องไปเรียนรู้กับชาวนา...ชีวิตในท้องนาที่มีน้ำขังอยู่ครึ่งแข้ง มันให้ความรู้ ให้ความคิด ให้ความรู้ทางจิตวิญญาณ ให้เทคนิคการดำนา เรียนรู้ไปทุกวิธี ทำให้ผมอิ่มเอิบ เกิดปีติ
เรื่องราวของ ดร.เพิ่มศักดิ์ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เราได้หยิบยกขึ้นมาเรียบเรียงใหม่ โดยขณะยังมีเกษตรกร ที่เดินจากในเมืองลงสู่ท้องนาอีกมากมาย เช่น คุณเดชา ศิริภัทร แห่งมูลนิธิข้าวขวัญ หรืออย่างลุงผู้พลิกฟื้นผืนแผ่นดินของตัวเอง ด้วยคำขวัญศาสนสุภาษิตที่ว่า "ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" - อตฺตาหิ อตฺโน นาโถ ซึ่งออกอากาศประหนึ่งโฆษณาทางจอโทรทัศน์....
วันก่อนที่ศูนย์อาชีพและธุรกิจ มติชน มีการอบรมเรื่องการขายข้าวแกง ครูโนมพรรณ แก้วประพาฬ มาฝึกสอนให้ ด้วยหลักสูตรข้าวแกง 10 อย่าง และการเปิดร้าน ใช้เวลา 2 วัน
ที่ต้องใช้เวลา 2 วัน เพื่อแบ่งประเภทแกงออกเป็น 2 ส่วน คือวันแรกเป็นประเภทแกงกะทิ และแกงส้ม วันที่สองเป็นประเภท "แกงอ่อม" เช่น แกงหอยขม หลน และผัดเผ็ดปลาดุก
ลองรับประทานแกงส้ม และขนมจีนแกงเขียวหวาน ได้รสชนิดที่เรียกว่า "รสถึง" คือถึงเครื่องแกง สอบถามได้ความว่า เครื่องแกงทำเองเป็นส่วนใหญ่
ไม่แต่เพียงเป็นครูสอนต้มยำทำแกงเท่านั้น ครูโนมพรรณยังเปิดร้านขายข้าวแกงอยู่ในบริเวณกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี อีกด้วย ทั้งยังรับจัดเลี้ยงประเภทบุฟเฟ่ต์สำหรับงานเลี้ยงทั้งหลาย ที่ต้องการอาหารไทยเป็นหลัก
ท่านผู้ใดต้องการจัดเลี้ยง หรือออกร้านอาหารในงาน ติดต่อได้ที่หมายเลข (081) 775-5632
ใครที่กำลังมองหาอาชีพที่มั่นคง ยั่งยืน อาชีพขายข้าวแกงก็นับเป็นอีกอาชีพหนึ่ง ที่เลี้ยงตัวเอง และครอบครัวได้แน่นอน เพราะหากได้ทำเลเป็นที่ชุมชน หรือเป็นทางผ่านกลับจากที่ทำงาน แน่นอนว่าครอบครัวทุกวันนี้ ทำอาหารกันเองเช้า เย็นนั้นมีให้เห็นน้อยมาก ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่ฝากท้องไว้กับร้านข้าวแกงกันทั้งนั้น
การทำร้านข้าวแกงขายทุกวันนี้ไม่น่าจะยุ่งยากมากนัก ขอให้ขยันและมีลูกมือบ้าง ดีที่สุดควรจะเป็นลูกหลาน แม้เป็นช่วงเปิดเรียนลูกหลานก็ช่วยงานได้ อย่างน้อยล้างผักตำพริกแกง เสิร์ฟ และล้างจาน ทำให้ลูกหลานรู้จักฝึกอาชีพไว้ อย่างน้อยก็ให้รู้จักทำมาหากิน และค้าขาย
ยุคสมัยนี้ การเรียนสายสามัญเริ่มลดความสำคัญลงไป เพราะการเรียนให้สูงถึงระดับปริญญาตรีไม่มีเพียงสายสามัญเท่านั้น สายอาชีวศึกษา หรือสายอาชีพก็เรียนระดับปริญญาตรีได้ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ที่มีอยู่ 9 แห่ง หลายวิทยาเขตทั่วประเทศ หรือวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่ทุกวันนี้เริ่มเปิดการเรียนการสอนถึงระดับปริญญาตรีแล้ว
เป็นอย่างไรบ้างครับ กับข้อมูลอาชีพที่ทาง รักอาชีพ ได้เรียบเรียงมาให้ทุกท่านให้อ่านกัน ที่ขึ้นต้นด้วยการทำนา ปิดท้ายด้วยเรื่องขายข้าวราดแกง เพราะถึงอย่างไร คนไทยต้องทำนา และกินข้าวอยู่วันยังค่ำ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : มติชน
0 comments